สาระน่ารู้

บริษัท ตั้งยิ่งวัฒนา จำกัด

10 กันยายน 2561

คำแนะนำการปลูกถั่วเขียว

ถั่วเขียวเป็นพืชล้มลุก ต้นสูงประมาณ 60-70 เซนติเมตร  แตกกิ่งก้านสาขาประมาณ 4-6 กิ่งมีอายุสั้น ทำให้ปลูกได้ปีละหลายครั้ง  โดยทั่วไปถั่วเขียวชอบอากาศร้อนและชื้น ทนทานต่อความแห้งแล้ง และยังทนทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช  จึงเป็นที่นิยมปลูกกันในแทบทุกภาคของประเทศไทย  แต่อย่างไรก็ดีแม้ว่าถั่วเขียวจะเป็นพืชไร่ที่ปลูกได้ง่าย  แต่การที่จะให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูง นั้น ก็จะต้องมีการปฏิบัติรักษาที่ถูกต้องตามสมควร

ดิน ถั่วเขียวขึ้นได้ในดินทุกชนิดแต่เจริญเติบโตได้ดีในดิน ร่วนทราย ระบายน้ำดี มีอาหารธาตุพอสมควร ไม่ควรจะปลูกถั่วเขียวในดินเกลือ ดินเปรี้ยว(เป็นกรดจัด) ดินเหนียวจัด และดินที่ระบายน้ำได้ยาก

พันธุ์ ถั่วเขียวพื้นเมืองมีอยู่ หลายพันธุ์ ในขณะนี้ กรมวิชาการเกษตร ได้แนะนำให้ใช้พันธุ์อู่ทอง 1 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่อายุสั้นประมาณ 65-70 วัน  ใช้ปลูกได้ทุกฤดู  มีเมล็ดโตผิวมัน  ให้ผลผลิตสูง  180-200 กิโลกรัมต่อไร่  ดอกและฝักที่ติดชุดแรกประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์  ฝักเหนียวไม่แตกง่าย สามารถเก็บเกี่ยวได้ใน 1 หรือ 2 ครั้ง เท่านั้น

เมล็ดพันธุ์ ควรจะหาเมล็ดพันธุ์ดีมีความงอกสูงเกษตรกรอาจจะทำทดสอบความงอก ของเมล็ดพันธุ์ได้เอง  โดยแบ่งเอาเมล็ดที่จะปลูก ประมาณ 100-200 เมล็ด เพาะในทราย  เช่นเดียวกับการเพาะถั่วงอกแล้วนับจำนวนต้นที่งอกขึ้นมา คำนวณว่างอกร้อยละเท่าไร เพื่อหาอัตราปลูกที่เหมาะสม(เมล็ดพันธุ์ 1 กก. จำนวนประมาณ 20,000 เมล็ด)

ฤดูปลูก

1.  ในที่ดอน นิยมปลูก 2 ครั้ง คือต้นฤดูฝน(พ.ค.-มิ.ย.) และปลูกฤดูฝน (ก.ย.-ต.ค.)

2.  ในนา สามารถปลูกได้ 2  ครั้ง  คือก่อนฤดูทำนาและหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว

ก่อนฤดูทำนา ควรจะปลูกตั้งแต่มีฝนตกครั้งแรก ประมาณกลางเดือนเมษายนเป็นต้นไป ถึงกลางเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม

หลังฤดูทำนา  ในบางท้องที่ดินมีความชุ่มชื้นหรืออุ้มน้ำได้ดีควรจะรีบปลูกทันทีที่เก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ หรือตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม เป็นต้นไป  ในภาคกลางเช่น ทางจังหวัด ราชบุรีหรือเพชรบุรี จะปลูกในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์

3.  สำหรับในท้องที่ ที่มีน้ำชลประทานช่วย เช่น จังหวัดลำพูน อาจจะปลูกพืช ได้ถึง 3 คร้ง คือ ข้าว(กรกฎาคม-พฤศจิกายน) ถั่วเหลือง หรือกระเทียม(มกราคม-เมษายน) ถั่วเขียว (เมษายน-มิถุนายน)

ถั่วเขียวเป็นพืชที่ไม่ชอบอากาศหนาว ถ้าอากาศหนาวถั่วเขียวจะไม่เจริญเติบโต ฉะนั้น ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ควรปลูกหลังอากาศหนาวผ่านไปแล้วคือประมาณกลางเดือน กุมภาพันธ์

การเตรียมดิน เช่นเดียวกับพืชไร่อื่น ๆ ควรมีการเตรียมดิน  ให้ร่วนซุยพอสมควรเพื่อช่วยรักษาความชื้น ในดินและป้องกันกำจัดวัชพืช ไปในตัวด้วย

ไม่ว่าจะปลูกถั่วเขียวก่อนหรือหลังฤดูปลูกข้าว ควรจะไถพรวนดินทันที เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จถ้าทิ้งไว้นาน  ดินจะแข็งไม่สามารถจะเตรียมได้ทันท่วงที เมื่อถึงฤดูปลูก

ระยะปลูก แนะนำให้ปลูกเป็นแถว ระยะระหว่างแถว 50 เซนติเมตร ระหว่างหลุม 20 เซนติเมตร หยอดหลุมละ 4-5 เมล็ด จะได้ต้นถั่วเขียวจำนวน 32,000 ต้นต่อไร่  และใช้เมล็ดพันธุ์ปลูก 2-3 กิโลกรัม

การปลูกโดยการหว่าน  ทำได้โดยสะดวก แต่มีข้อเสียอย่างหลายอย่าง ในการหว่าน เช่น ทำให้เปลืองเมล็ดต้นถั่วเขียว  ขึ้นไม่สม่ำเสมอ ไม่สามารถเข้าไปพรวนดิน ดายหญ้าและพ่นยาป้องกันกำจัดศัตรูพืช ได้ในภายหลัง  ถ้าใช้เมล็ดหว่านมากเกินไป  ต้นจะขึ้นเบียดกันแน่น  เมล็ดเล็กผลผลิตต่อไร่ต่ำ  นอกจากนี้ยังทำให้เก็บเกี่ยวได้ช้า

อาจจะโรยเมล็ดเป็นแถว  โดยเว้นระยะระหว่างแถว 50 เซนติเมตร ใช้เมล็ด 20-60 เมล็ดต่อแถวยาว1 เมตร

การปฏิบัติรักษา หลังจากปลูกแล้วประมาณ 4-5 วัน ต้นถั่วเขียวจะงอกพ้นดินควรจะทำการถอนหรือซ่อมให้เหลือหลุมละ 2 ต้น หรือ 10 ต้นต่อแถวยาว 1 เมตร ถ้าซ่อมช้ากว่านี้  ต้นถั่วเขียวจะเจริญเติบโตและแก่ไม่พร้อมกัน

ศัตรูที่สำคัญของถั่วเขียว คือ หนอนแมลงวัน เจาะลำต้นอ่อนซึ่งแมลงวันชนิดนี้จะเข้าไปวางไข่ที่โคนต้นกล้าทันทีที่โผล่พ้นดิน  ทำให้ต้นอ่อนแคระแกร็น ชงักการเจริญเติบโต และอาจจะทำให้เชื้อโรคระบาดตามเข้าไปภายหลัง  ทำให้ต้นถั่วเขียวตายได้  ดังนั้นจึงแนะนำให้พ่นยาฆ่าแมลงพวกดูดซึม เช่น ไดเมทไธเอท ในอัตรา 30 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร

ในระยะเดือนแรกต้นถั่วเขียวจะเจริญเติบโตช้ากว่าวัชพืช จึงควรมีการพรวนดิน ดายหญ้า ช่วย 1 หรือ 2 ครั้ง (ทุก 15 วัน) หลังจากปลูก จากนั้นต้นถั่วเขียวจะเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วและจะคลุมหญ้าได้อย่างทั่วถึง  การพรวนดิน ดายหญ้า จะช่วยตัดการระเหยของน้ำในดินได้อีกด้วย  ในฤดูก่อนได้ ในกรณีที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ  แนะนำให้ใช้ปุ๋ยกระดูกและปุ๋ยผสม  ที่มีธาตุไนโตรเจนต่ำ แต่มีธาตุฟอสฟอรัสสูง และโปรแตสเซียมปานกลาง  ในกรณีนี้ปุ๋ยเคมีที่แนะนำ คือ N, P2O8,K2O ในอัตรา 3-9-6 กก. ปุ๋ยดับเบิ้ลซูเปอร์ฟอสเฟต 22.5 กก. และปุ๋ยโปแตสเซี่ยม คลอไรด์ 10 กก. ผสมเข้าด้วยกัน  ให้ปุ๋ยโดยโรยระหว่างแถวแล้วพรวนดินกลบพร้อมกับการพรวนดินดายหญ้าครั้งแรก

การให้น้ำ ในนาและพื้นที่ชลประทานแม้ว่า ถั่วเขียวจะเป็นพืชที่ทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดีกว่า พืชไร่หลายชนิดแต่การที่จะได้ผลผลิตต่อไร่สูงควรจะให้น้ำ ถ้ามี สัก 2 ครั้ง คือภายใน 3 อาทิตย์ และ 6 อาทิตย์ ให้น้ำพอดินชุ่มอย่าถึงกับแฉะ

ในระยะนี้ต้นถั่วเขียวเจริญเติบโตอาจจะมีแมลงศัตรูพืชบางชนิดเข้าทำลาย  ซึ่งแตกต่างกันไปตามฤดูกาล และท้องถิ่น เช่น จะมีพวกเพลี้ยอ่อน เพลี้ยจั๊กจั่นดูดกินน้ำเลี้ยงในช่วงที่มีอากาศแล้ง และจะมีพวกหนอนกัดใบ ดอก และฝักอ่อนในช่วงที่มีฝนตก ควรจะตรวจดูแปลงถั่วเขียวเมื่อเห็นว่ามีแมลงระบาด ก็ใช้ยาตามข้างบนหรือสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีป้องกันกำจัดจากเจ้าหน้าที่เกษตร ในท้องถิ่น

การเก็บเกี่ยว เมื่อถั่วเขียวอายุได้ 60 วัน ขึ้นไป  ฝักเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีดำหรือสีฟางตามแต่ลักษณะของพันธุ์ซึ่งแสดงว่าแก่พอจะเก็บเกี่ยวได้สำหรับถั่วเขียวพันธุ์อู่ทอง 1 ฝัก เกือบทั้งหมดจะแก่และเก็บฝักชุดแรกเมื่อมีอายุ 67-70 วัน  หากทิ้งไว้อีกประมาณ 1 อาทิตย์ ก็จะเก็บฝักครั้งที่ 2 ได้ อีกครั้งหนึ่ง แต่มีจำนวนไม่มากนัก

เมื่อเก็บฝักจากไร่แล้วควรจะตากแดดอีกประมาณ 3-4 แดด  จึงนวดและฟัดเอาเมล็ดออกตากแดดอีกประมาณ 3 แดด  จึงเก็บใส่กระสอบหรือภาชนะ

ในกรณีที่มีความจำเป็นจะต้องเก็บเมล็ดไว้ให้หมั่นนำเมล็ดมาตากแดดทุก 2 อาทิตย์  เพื่อป้องกันมอดเจาะทำลายเมล็ด

แม้ว่าถั่วเขียวพันธุ์อู่ทอง 1  จะออกดอกติดฝักและเก็บเกี่ยวได้พร้อมกัน  ซึ่งสามารถตัดทั้งต้นมาจากแดด และนวดเมล็ดแบบถั่วเหลืองได้ก็ตาม แต่ควรจะเก็บสัก 2 ครั้ง ซึ่งจะได้จำนวนฝักมากขึ้นและยังเป็นการลดจำนวน ฝักแตก เมล็ดร่วงได้น้อยนอกจากนี้การที่ทิ้งใบ กิ่ง ก้าน และลำต้น ไว้ในแปลงนั้นจะกลายเป็นปุ๋ยพืชสด  ช่วยในการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินให้ดีขึ้นอีกด้วย

สำหรับการปลูกถั่วเขียว  ก่อนทำนา การกำหนดให้เสร็จก่อนกลางเดือนกรกฎาคม  เพื่อสะดวกแก่การเก็บเกี่ยว ตากและนวดเมล็ดได้ทันก่อนที่ฝนลงหนัก  ซึ่งจะทำให้เมล็ดเสียหายหรืองอกเป็นต้นอ่อน  และยังมีโอกาสเตรียมดินทำนาได้ทันเวลา

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก thaikasetsart